"โครงการโบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า
จังหวัดแม่ฮ่องสอน ระยะที่ 2"
เป็นโครงการที่ต่อยอดจากโครงการโบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า
จังหวัดแม่ฮ่องสอน ระยะที่ 1 ซึ่งได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
(สกว.) ดำเนินการวิจัย 3 ปี ระหว่าง พ.ศ.2546-2549
คณะผู้วิจัยประกอบด้วย
หัวหน้าโครงการและนักวิจัยด้านโบราณคดี
คือ ผศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช ภาควิชาโบราณคดี
คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
นักวิจัยด้านวงปีไม้และสิ่งแวดล้อม
คือ รศ.ดร.นาฏสุดา ภูมิจำนงค์ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหิดล
นักวิจัยด้านมานุษยวิทยากายภาพ:
ฟันมนุษย์ คือ ผศ.พญ.ดร.กนกนาฏ จินตกานนท์
นักวิจัยด้านมานุษยวิทยากายภาพ
นางสาวนัทธมน ภู่รีพัฒน์พงศ์ โครงการโบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า
จังหวัดแม่ฮ่องสอน ระยะที่ 2
แนะนำโครงการ
โครงการวิจัยนี้เป็นโครงการวิจัยแบบสหวิทยาการ
(Multi-disciplinary research) ที่เชื่อมโยงการวิจัยในด้านโบราณคดี
มานุษยวิทยา วงปีไม้เข้าด้วยกัน เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับการปรับตัวของคน
และพัฒนาการทางสังคม-วัฒนธรรม และสภาพแวดล้อมโบราณในป่าเขตร้อน
โจทย์วิจัยที่สำคัญของโครงการคือ
ประการแรก เพื่อศึกษาเรื่องราวของคน วัฒนธรรม และจัดลำดับพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนดั้งเดิมที่เคยอาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอปางมะผ้า
ประการที่สอง เพื่อศึกษาสภาพแวดล้อมโบราณในป่าเขตร้อน ประการที่สาม
เพื่อศึกษาการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อมในอดีต โดยเฉพาะการปรับตัวทางวัฒนธรรมของคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภูเขาสูงชัน
และ ประการสุดท้าย เพื่อศึกษาเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
วัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมระหว่างอดีตกับปัจจุบัน
โครงการวิจัยระยะที่หนึ่งได้ค้นพบหลักฐานเป็นจำนวนมากและไม่สามารถทำการวิจัยให้เสร็จภายในระยะเวลาการวิจัย
2 ปี ดังนั้น โครงการวิจัยระยะที่สองจึงเป็นโครงการต่อเนื่องที่เน้นการวิเคราะห์ข้อมูลและบูรณาการผลการวิจัยจากศาสตร์ต่างๆ
เพื่อตอบคำถามโจทย์วิจัยข้างต้น รวมทั้งเพื่อพัฒนาแนวคิดทฤษฏีและวิธีวิทยาในแต่ละศาสตร์
และนำองค์ความรู้ใหม่ไปใช้ประโยชน์และถ่ายทอดสู่ชุมชนท้องถิ่นและสาธารณชนต่อไป
สำหรับโครงการวุฒิเมธีวิจัยและพัฒนา 2 โครงการคือ โครงการสำรวจและจัดทำระบบฐานข้อมูลสารสนเทศทางโบราณคดีบนพื้นที่สูงในบริเวณลุ่มแม่น้ำลางตอนบน
อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน และโครงการศึกษาชาติพันธุ์วรรณนาทางโบราณคดีของกลุ่มคนบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า
จังหวัดแม่ฮองสอน ซึ่งเสนอขออนุมัติโครงการพร้อมกับโครงการวิจัยระยะที่สองนั้น
เป็นโครงการวิจัยคู่ขนานที่ช่วยสนับสนุนข้อมูลให้กับโครงการโบราณคดีบนพื้นที่สูงฯ
โดยตรง และเป็นโครงการที่ส่งเสริมผู้ช่วยนักวิจัยซึ่งทำงานในพื้นที่วิจัยเป็นเวลา
4 ปีให้พัฒนาเป็นนักวิจัย
ผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการโบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า
จังหวัดแม่ฮ่องสอนระยะที่สอง และโครงการวุฒิเมธีวิจัยและพัฒนา
คือ การสร้างองค์ความรู้ใหม่ ด้านโบราณคดี มานุษยวิทยา วิทยาศาสตร์
(ชีววิทยา) แพทย์ศาสตร์ ทันตแพทย์ศาสตร์ วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
ธรณีวิทยา ภูมิศาสตร์ วนศาสตร์ สัตววิทยา ฯลฯ โดยเฉพาะองค์ความรู้ใหม่เรื่องโบราณคดีของกลุ่มคนที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงในประเทศไทย
ซึ่งในปัจจุบันเรามีความรู้ ความเข้าใจที่น้อยมาก พื้นที่อำเภอปางมะผ้าจัดเป็นชายขอบของความรู้ด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ไทย
นอกจากนี้องค์ความรู้ใหม่ยังเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญในการประยุกต์ใช้อดีตกับปัจจุบัน
อันจะช่วยทำให้การอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมในท้องถิ่นมีประสิทธิภาพมากขึ้น
รวมทั้งสร้างจิตสำนึกท้องถิ่นและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่นได้
|